วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

นวัตกรรม ทางการพยาบาล

นวัตกรรมทางการพยาบาล
  กล่องวางขา   รักษ์โลก

·       ประวัติของหัวหน้าผู้ประดิษฐ์คิดค้น  และ/หรือผู้ร่วมประดิษฐ์คิดค้น
หัวหน้าผู้ประดิษฐ์คิดค้น
ชื่อ สกุล             นายบุญทัน           สุขสอาด
 ตำแหน่ง               พยาบาลเทคนิค 6  หอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูก โรงพยาบาลปทุมธานี
ผู้ร่วมประดิษฐ์คิดค้น
เจ้าหน้าที่หอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูก โรงพยาบาลปทุมธานี
·       รายละเอียดเกี่ยวกับผลงานการประดิษฐ์คิดค้น
1. จุดเริ่มต้นหรือที่มาของการประดิษฐ์คิดค้น
                โรคกระดูกที่เกิดจากอุบัติเหตุในโรงพยาบาลปทุมธานีที่พบเป็นอันดับ 1 คือ กระดูกขาหัก ไม่ว่าจะเป็นกระดูกขาส่วนบนหรือกระดูกขาส่วนล่าง  การรักษาส่วนใหญ่คือการผ่าตัด  หลักและวิธีการดูแลที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การให้ผู้ป่วยนอนยกขาสูง  เพื่อช่วยให้การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น  ลดอาการบวมของขาและช่วยบรรเทาอาการปวด ปัจจุบันหอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูกใช้หมอนสำหรับวางขาผู้ป่วย ซึ่งมักจะพบปัญหาผู้ป่วยขาบิดหมุนออกด้านนอก (External  rotation)บางรายมีปลายเท้าตก(Foot  drop) ร่วมด้วย  ทีมงานได้ใช้วิธีการต่างๆเช่นใช้ถุงทราย ถุงน้ำเกลือ หมอนหรือผ้าห่มช่วยประคองขาไว้เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวแต่ก็ยังพบปัญหานั้นอยู่ จึงได้คิดประดิษฐ์อุปกรณ์สำหรับวางขาผู้ป่วยขึ้น เน้นการนำวัสดุที่เหลือใช้มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน โดยนำแนวคิดและเทคนิคของ เปเปอร์ มาเช่ มาใช้เพื่อเปลี่ยนกล่องกระดาษให้เป็นกล่องสำหรับวางขาขึ้น  ซึ่งนับว่าเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่มีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน
2. ระยะเวลาที่ใช้ในการประดิษฐ์คิดค้น         
ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2551 30 มิถุนายน 2551
3. ลักษณะของผลงานประดิษฐ์คิดค้น           
                กล่องวางขาลดภาวะโลกร้อน  เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่คิดค้นขึ้นใหม่  วัสดุที่ใช้ทำมาจากกล่องกระดาษและกระดาษหนังสือพิมพ์      นำมาประกอบเข้าเป็นรูปร่างโดยใช้หลักการของเปเปอร์มาเช่ 
ใช้ประโยชน์ในการวางขาผู้ป่วย   เป็นอุปกรณ์ที่ทำง่าย  ต้นทุนต่ำ ใช้สะดวก  มีน้ำหนักเบา  ทำความสะอาดง่าย  สามารถกันน้ำได้  และมีความคงทน
4. ภูมิหลังของศิลปวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์คิดค้น
1)            ปัจจุบันทางหอผู้ป่วยใช้หมอนสำหรับวางขาผู้ป่วยทำจากใยมะพร้าวและหุ้มด้วยหนังเทียม 
ราคาใบละ ~ 800 บาท  หากชำรุดต้องเสียค่าใช้จ่ายในการส่งซ่อมใบละ 250 บาท

2)            การใช้หมอนวางขาผู้ป่วยทำให้เกิดปัญหาคือ    ขาผู้ป่วยบิดหมุนออกด้านนอก   และ
ปลายเท้าตก   ผู้ป่วยไม่ได้รับความสุขสบาย   บางครั้งต้องใช้ถุงทราย    ถุงน้ำเกลือ  หรือใช้หมอนหลายๆใบช่วยในการประคองขาไว้
3)            กล่องวางขาที่ประดิษฐ์ขึ้น   มีลักษณะสวยงาม  ขนาดกะทัดรัด  ใช้สะดวก  น้ำหนักเบา
มีความคงทน รักษาทำความสะอาดง่าย 
4)            เป็นอุปกรณ์ที่ทำจากเศษวัสดุที่เหลือใช้แล้ว หาง่าย ต้นทุนในการผลิตต่ำ(~100 บาท / ชิ้น ) 
5)            เป็นอุปกรณ์ที่คิดประดิษฐ์ขึ้นเพื่อสนับสนุนกิจกรรมลดภาวะโลกร้อน
5. ผู้ประดิษฐ์คิดค้นได้ปรับปรุงแก้ไขผลงานให้มีผลดีขึ้นจากผลงานเดิม
                หลังจากประดิษฐ์อุปกรณ์แล้วได้นำไปทดลองใช้วางขาผู้ป่วย  พบว่าขาที่วางไม่พอดีกับกล่อง เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายมีขนาดความยาวของขาและขนาดของเท้าไม่เท่ากัน      จึงได้มีการปรับขนาดและความยาวของกล่องวางขา ให้มีหลายขนาด สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมกับขนาดของขาและเท้าของผู้ป่วยแต่ละราย
6. เป็นผลงานประดิษฐ์คิดค้นที่ใช้ในกิจการ
                ใช้ในงานบริการพยาบาลผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณขา  โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีกระดูกขาหักทั้งส่วนบน ส่วนล่าง จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์วางขาเพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิต  ลดอาการปวด บวม  และผู้ป่วยได้รับความสุขสบาย
7. ลักษณะเด่นของผลงานประดิษฐ์คิดค้น
1)            เป็นอุปกรณ์ที่ใช้วางขาผู้ป่วย มีหลายขนาด สีสันสวยงาม
2)            ใช้วัสดุที่หาง่าย ทำจากกล่องกระดาษและกระดาษหนังสือพิมพ์  ต้นทุนต่ำ
3)            เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยสนับสนุนกิจกรรมที่มีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน 
8. คุณสมบัติ
1)            ใช้สำหรับวางขาผู้ป่วยให้ผู้ป่วยยกขาสูง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิต  ลดอาการปวด
บวม ผู้ป่วยได้รับความสุขสบาย และช่วยป้องกันขาบิดออกด้านนอกและปลายเท้าตก
2)            สามารถใช้วางขาผู้ป่วยที่เข้า Traction  ได้
3)             มีขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายสะดวก ทำความสะอาดง่าย กันน้ำและมีความคงทน
9. หลักการและขั้นตอนรวมทั้งกรรมวิธีในการประดิษฐ์คิดค้น
1)            จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการประดิษฐ์ประกอบด้วย
-         กล่องกระดาษแข็ง ขนาด 12 x 15 นิ้ว                   จำนวน 2 กล่อง
-         กระดาษหนังสือพิมพ์                                                จำนวน 3 ฉบับ
-         แป้งมัน (สำหรับทำแป้งเปียก)                                 จำนวน 1 ถุง
-         สีน้ำมัน หรือสีอะครีลิค                                             จำนวน 1 กระป๋อง
-         พู่กันทาสี                                                                       จำนวน 1 ด้าม
-         มีดคัตเตอร์                                                                    จำนวน 1 ด้าม
-         กระดาษเทปกาว                                                          จำนวน 1 ม้วน                                    
2)            วิธีการประดิษฐ์
2.1      ตัดกล่องกระดาษให้ได้รูปทรงตามที่ต้องการ  แล้วนำชิ้นส่วนของกระดาษที่ตัดมาประกอบเข้าด้วยกันโดยใช้กระดาษเทปกาวเชื่อมต่อกันเป็นรูปทรง กล่องวางขา ดังรูป

                   

2.2      ฉีกกระดาษหนังสือพิมพ์เป็นแนวยาวความกว้างประมาณ 1 นิ้ว
2.3      นำกาวแป้งเปียกที่ได้จากการต้มแป้งมันผสมกับน้ำ  ทาลงบนกล่องกระดาษที่เตรียมไว้แล้วนำแถบกระดาษหนังสือพิมพ์มาปะติดให้ทั่วกล่องและรีดให้เรียบในทิศทางเดียวกัน  ทำหลายๆ ชั้น (ประมาณ 4 ชั้น) เพื่อให้มีความคงทนและแข็งแรง

                

2.4      นำชิ้นงานไปตากแดดหรือวางในที่อากาศถ่ายเทสะดวก  ทิ้งไว้ประมาณ 1 2 วัน จนชิ้นงานแห้งสนิท


2.5      ทาทับชิ้นงานด้วยสีน้ำมันหรือสีอะครีลิค ประมาณ 2- 3 รอบ  ให้ผิวชิ้นงานมีความมันวาว  สีสันสวยงามตามต้องการ  ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง  จะได้อุปกรณ์ดังรูป
                                                                                                                                                                                                 
   
    
2.6      นำอุปกรณ์ไปทดลองใช้ ปรับปรุงและประเมินผล
                                         ก่อนใช้อุปกรณ์
                                       

     
                           
    
                                                                  หลังใช้อุปกรณ์
     

10. วัสดุที่ใช้ในการประดิษฐ์คิดค้น  และแหล่งที่มา
1)            กล่องกระดาษบรรจุน้ำเกลือชนิดถุงขนาด 1,000 CC  ที่เหลือใช้
2)            กระดาษหนังสือพิมพ์เก่า
3)            แป้งมัน  กระดาษเทปกาว  หาซื้อได้ตามร้านขายของทั่วไป
11. เป็นผลงานประดิษฐ์คิดค้นจาก
                งานในหน้าที่ : การใช้ Dialogue  ของบุคลากรเพื่อพัฒนาคุณภาพงานบริการ
12. งบประมาณที่ใช้ในการประดิษฐ์คิดค้น
                ประมาณ 100 บาท / ชิ้น  ได้รับงบประมาณจากเงินบริจาค

13. สถานที่ตั้งของผลงานประดิษฐ์คิดค้น
                หอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูก  โรงพยาบาลปทุมธานี
14. ประโยชน์ที่ได้รับจากผลงานประดิษฐ์คิดค้นที่กระทบต่อเศรษฐกิจ  สังคม  ความมั่นคง  และการ
     พัฒนาประเทศ
-   เมื่อยังไม่ได้คิดค้นประดิษฐ์  ต้องใช้หมอนในการวางขาซึ่งมีจำนวนจำกัด  และหมอนมีราคาสูง ใบละประมาณ 800 บาท  หากชำรุดต้องเสียค่าใช้จ่ายในการส่งซ่อมใบละ 250 บาท  เมื่อประดิษฐ์อุปกรณ์ขึ้น สามรถช่วยประหยัดงบประมาณได้
-  กล่องวางขาที่ประดิษฐ์ขึ้น เป็นอุปกรณ์ที่มีต้นทุนต่ำ ใบละ ~ 100 บาท เนื่องจากนำวัสดุเหลือใช้ที่ผลิตจากธรรมชาติ ช่วยลดภาวะโลกร้อน 
- ได้นำผลงานสิ่งประดิษฐ์ไปใช้กับผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณขา ในหอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูกโรงพยาบาลปทุมธานีแล้วผู้ป่วยได้รับความสุขสบาย และมีความพึงพอใจขณะใช้อุปกรณ์
15. การเผยแพร่ผลงานการการประดิษฐ์คิดค้น
-  แสดง Poster  Presentation  ในหอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูก โรงพยาบาลปทุมธานี
-  เผยแพร่ผลงานในทีมพัฒนาคุณภาพงานศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์  โรงพยาบาลปทุมธานี  เพื่อขยายผลการใช้ผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้น  ไปยังหน่วยงานที่รับดูแลรักษาผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์.






                                                          




















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สื่อการสอนวิทยาศาสตร์